วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ตราสารทางการเงินระหว่างประเทศ


ตราสารทางการเงินในตลาดระหว่างประเทศ

  
         ในปัจจุบันตราสารทางการเงินในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ได้มีการพัฒนารูปแบบของสินค้าใหม่ ๆและมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง ระยะเวลาในการลงทุน ระยะเวลาในการจ่ายผลตอบแทน สภาพคล่อง เงื่อนไขในการไถ่ถอน ผู้ออกตราสาร รวมทั้งสกุลเงินตราที่ใช้ในการลงทุน เป็นต้น สามารถแบ่งตามประเภทที่ออกได้ ดังนี้
     1.ตราสารทุน (Equity Instrument)
     2.ตราสารหนี้ (Debt instrument)
     3.ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid instrument)
     4.ตราสารอนุพันธ์
ตราสารทุน (Equity Instrument) 
        ตราสารทุนที่มีการซื้อขายกันในตลาดระหว่างประเทศก็มีลักษณะคล้ายกับในตลาดท้องถิ่น เพียงแต่การลงทุนในตลาดระหว่างประเทศนั้นมีทางเลือกที่หลากหลายกว่า ทั้งในแง่ทางภูมิศาสตร์และตัวสินค้า นักลงทุนสามารถเลือกที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามภูมิภาคต่างๆทั้งในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นต้น และตลาดเกิดใหม่ ( Emerging market ) เช่น บราซิล อาร์เจนตินา อินเดีย ไทย มาเลเซีย จีน เป็นต้น ซึ่งทั้งสองตลาดข้างต้นมีความแตกต่างกัน   โดยทั่วไปการลงทุนในตลาดเกิดใหม่จะให้อัตราผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงและความผันผวนมากกว่าเช่นกัน นอกจากนี้การลงทุนในตลาดระหว่างประเทศมักจะมีสินค้าที่หลากหลายครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดจำนวนมาก จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการแสวงหาตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
     ตราสารทุนที่มีการซื้อขายกันในตลาดระหว่างประเทศประกอบด้วย 2 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่
      1.หุ้นสามัญ (Common stocks) คือ ตราสารทุนที่แสดงสิทธิความเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการออกเสียงเพื่อมีส่วนในการบริหารกิจการตามสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ และได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล   ซึ่งเงินปันผลนี้กิจการจะจ่ายตามผลการดำเนินงานหรือผลกำไรที่ได้รับ   หากปีใดกิจการมีกำไรมากก็จะจ่ายเงินปันผลมากและปีใดที่มีกำไรน้อยก็จ่ายเงินปันผลน้อย ถ้าขาดทุนก็ไม่จ่ายเงินปันผล ดังนั้นผลตอบแทนจากเงินปันผลจึงไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานเป็นหลัก 
      2.หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred stocks) คือ ตราสารทุนคล้ายกับหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิในการออกเสียงเพื่อบริหารกิจการ อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่ระบุไว้และได้รับการจัดสรรเงินปันผลก่อนหุ้นสามัญ รวมทั้งได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หุ้นประเภทนี้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไม่มากนักเมื่อเทียบกับหุ้นสามัญ จึงมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ
        โดยทั่วไปผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุนประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
ผลตอบแทนจากตราสารทุน = เงินปันผล + กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์
         จะเห็นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุนมีความไม่แน่นอน ทั้งจากเงินปันผลและกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย ในช่วงที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ดีนักลงทุนอาจสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital gain) ได้มาก สำหรับในช่วงที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำซบเซาก็อาจประสบกับการขาดทุนจากส่วนต่างราคาซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital loss) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการลงทุนในตราสารทุนมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
         ตลาดสำคัญที่ซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทนี้    ได้แก่  ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ( New York Stock Exchange: NYSE ) ตลาดหุ้นแนสแด็ก (NASDAQ Stock Market) ตลาดหุ้นโตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ตลาดหุ้นลอนดอน (London Stock Exchange)


ตราสารหนี้ (Debt instrument)
         ตราสารหนี้ คือ ตราสารที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างกัน โดยผู้ออกตราสารหนี้ระดมเงินหรือกู้ยืมเงินจากผู้ซื้อตราสารและมีสัญญาจะจ่ายคืนเมื่อครบกำหนดเวลา รวมทั้งจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆจำนวนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ตราสารหนี้ระหว่างประเทศมีความหลากหลายทั้งผู้ออกและมีสินค้าให้เลือกลงทุนจำนวนมาก ตราสารหนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ตราสารหนี้ยูโร (Eurobond) ตราสารหนี้ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน และ อินเดีย เป็นต้น โดยทั่วไปตราสารหนี้แบ่งตามประเภทผู้ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ และตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน

ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ
         1.ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill) เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลมีอายุการไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปี เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น จำหน่ายโดยวิธีประมูลและผู้ลงทุนจ่ายชำระเงินในราคาหน้าตั๋วหักส่วนลด (Discount) เมื่อครบกำหนดผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนในราคาที่ตราไว้หน้าตั๋ว โดยทั่วไปมักเป็นการกู้เพื่อนำไปชดเชยการขาดดุลเงินสดของรัฐบาล ตั๋วเงินคลังนับเป็นตราสารการเงินระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูงและเป็นที่ต้องการในท้องตลาด ตัวอย่างตั๋วเงินคลังที่ได้รับความนิยมในตลาดระหว่างประเทศ เช่น ตั๋วเงินคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั๋วเงินคลังของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เป็นต้น เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินเหลือในช่วงสั้นๆและต้องการความปลอดภัยของเงินลงทุน โดยที่อัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก
        2.พันธบัตรรัฐบาล (Government bonds) เป็นตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ซามูไรบอนด์ เป็นต้น เพื่อระดมเงินไปใช้ในการบริหารประเทศ ตราสารทางการเงินประเภทนี้ถือว่าไม่มีความเสี่ยง โดยความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระคืนหรือความเสี่ยงจากหนี้สูญ ( Default risk ) เนื่องจากรัฐบาลสามารถระดมเงินจากภาษีอากรมาไถ่ถอนคืนพันธบัตรเมื่อครบอายุไถ่ถอน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงอื่นๆยังคงอยู่ เช่น หากนักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรด้วยเงินตราต่างสกุลกับสกุลท้องถิ่น ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Currency risk) เกิดขึ้น เป็นต้น
        3.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (Agency bonds) เป็นตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลจึงถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ การค้ำประกันโดยรัฐบาลจะทำให้พันธบัตรมีความน่าเชื่อถือและสามารถระดมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ มักเป็นการระดมเงินเพื่อนำไปใช้ในกิจการสาธารณะ เช่น การสร้างสาธารณูปโภคในประเทศกำลังพัฒนา หรือกิจการเกี่ยวกับการศึกษา สำหรับตัวอย่างผู้ออกตราสารประเภทนี้ เช่น สมาคมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (Student Loan Marketing Association) ในสหรัฐฯ พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันจะให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยทั่วไปพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนยาวก็ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนสั้น

ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน
        หุ้นกู้เอกชน (Corporate bonds) คือ หุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเงินทุนไปใช้ในการลงทุนและขยายธุรกิจ ในตลาดระหว่างประเทศหุ้นกู้ประเภทนี้มีความหลากหลายให้เลือกลงทุน นับตั้งแต่อายุการไถ่ถอน อัตราผลตอบแทน เงื่อนไขในการไถ่ถอน อันดับความน่าเชื่อถือ ( Credit rating ) และบริษัทผู้ออกตราสาร โดยผลตอบแทนที่จะได้รับจะกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตายตัวหรือลอยตัวก็ได้ ระยะเวลาในการจ่ายดอกเบี้ย และมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแน่นอน เช่น หุ้นกู้ของบริษัท ก. มีอายุการไถ่ถอน  5 ปี จ่ายดอกเบี้ย ในอัตรา  4% ต่อปี โดยแบ่งจ่ายปีละ  2 ครั้ง คือ  30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นต้น นอกจากนี้หุ้นกู้เอกชนยังมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น
        1.หุ้นกู้มีหลักประกันและหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน (Secured bonds and Unsecured bonds) โดยทั่วไปหุ้นกู้ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ หุ้นกู้มีหลักประกันและหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน สำหรับหุ้นกู้มีหลักประกัน คือ หุ้นกู้ที่นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหลักทรัพย์นั้นๆ ในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลายหรือประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ ก็จะนำหลักทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าวออกมาใช้หนี้แทน ดังนั้นหุ้นกู้มีหลักประกันจึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน
        2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Senior bond and Subordinated bond) สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หมายถึง หุ้นกู้ที่ได้รับสิทธิในการชำระเงินหลังจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ แต่ก่อนผู้ถือหุ้นในกรณีที่บริษัทล้มละลาย ส่วนใหญ่หุ้นกู้ด้อยสิทธิจะจ่ายอัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั่นเอง และผู้ออกมักจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทที่มีความมั่นคงมีชื่อเสียง ในปัจจุบันหุ้นกู้ประเภทนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในตลาดระหว่างประเทศเนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนดี ขณะเดียวกันนักลงทุนก็มั่นใจในความมั่นคงของบริษัทผู้ออกตราสารในระดับหนึ่ง

ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Instrument)
         ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนเป็นตราสารทางการเงินที่ออกครั้งแรกเป็นตราสารหนี้ แต่มีเงื่อนไขให้ผู้ถือสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งเป็นตราสารทุนของบริษัทผู้ออกได้ในช่วงเวลา อัตรา และราคาที่กำหนดไว้ ตัวอย่างของตราสารประเภทนี้ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ ( Convertible debenture ) หุ้นกู้พร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Debenture with warrants) เป็นต้น ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนมีการซื้อขายและได้รับความนิยมมากในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี เพราะผู้ซื้อคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับจากราคาหุ้นสามัญที่สูงขึ้นเมื่อแปลงสภาพหรือใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิแล้ว ซึ่งจะทำกำไรได้มากกว่าผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยของหุ้นกู้ธรรมดา ตัวอย่างตราสารประเภทนี้ เช่น หุ้นกู้ยูโรแปลงสภาพ (Euro Convertible Debenture: ECD) การออกตราสารประเภทนี้มักเกิดจากบริษัทผู้ออกมองว่าในขณะนั้นภาวะตลาดหุ้นไม่ดี หากออกหุ้นสามัญจำหน่ายอาจได้ราคาไม่ดีหรือจำหน่ายได้น้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จึงตัดสินใจออกเป็นหุ้นกู้แล้วให้แปลงสภาพในภายหลัง อย่างไรก็ตามหุ้นกู้แปลงสภาพมักมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้ธรรมดา ดังนั้นในแง่ของนักลงทุนแล้วอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอาจต่ำลงในช่วงแรกแต่ได้ประโยชน์จากการแปลงสภาพเป็นตราสารทุนดังกล่าว
ตราสารอนุพันธ์
        การใช้ตราสารอนุพันธ์ในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของธุรกิจระหว่างประเทศ
        เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่ธุรกิจเผชิญอยู่ ส่วนมากจะอาศัยตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยงในอันที่จะทำให้ธุรกิจต้องเกิดความสูญเสียทางการเงินอันเกิดจากธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ตราสารอนุพันธ์ประกอบด้วย

       1.สัญญาฟอร์เวิร์ด (Forward Contract) เป็นสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในการที่จะรับและส่งมอบสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เงินตราต่างประเทศ ในราคาที่ระบุไว้ ( Exercise Price ) ณ วันสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนด (Settlement Date of Delivery Date) ส่วนมากสัญญาฟอร์เวิร์ดนิยมใช้กับการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยลักษณะของสัญญาฟอร์เวิร์ดจะไม่มีเงื่อนไขที่แน่นอน ไม่มีสัญญาที่เป็นมาตรฐานขึ้นอยู่กับความต้องการทั้งสองฝ่าย และการซื้อขายเป็นแบบนอกตลาด ( Over the Counter หรือ OTC ) ทำให้ไม่มีตลาดรอง ซึ่งมีผลให้สัญญาฟอร์เวิร์ด (Forward Contract) มีสภาพคล่องต่ำ
       2.สัญญาฟิวเจอร์ (Futures Contract)เป็นสัญญาข้อตกลงในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิงในราคาที่กำหนด และมีการส่งมอบกันในอนาคต เป็นสัญญามีมาตรฐาน มีองค์กรรองรับเป็นตลาดที่เป็นทางการ ซึ่งต่างจากสัญญาฟอร์เวิร์ดที่ทำการซื้อขายแบบนอกตลาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าทางเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ และสินทรัพย์ทางการเงิน ตลาดใหญ่ที่ทำการแลกเปลี่ยนสัญญา ซื้อขายในอนาคต (Futures Contract) ในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญมีอยู่ 2 ตลาด คือ CBOT (The Chicago Board of Trade) และ CME (The Chicago Mercantile Exchange) การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ (Futures Contract) ไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในตลาดอื่นด้วย อีกทั้ง สินทรัพย์อ้างอิงไม่ได้มีเพียงแต่สินค้าเกษตร แต่ยังมีสินทรัพย์ทางการเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นอีกด้วย
        ประเทศไทยมีตราสารฟิวเจอร์ที่ทำการซื้อขายกันในตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทย ได้แก่ Set 50 Index Futures, Single Stock Futures และ Gold Futures
       3.ตราสารสิทธิ (Option) ในช่วงแรกๆ ตราสารสิทธิที่มีการซื้อขายกันเป็นเครื่องมือทางการเงินในตลาด OTC ( Over the Counter ) ซึ่งเป็นการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาตลาดซื้อขายตราสารสิทธิและก่อให้เกิดสัญญาที่มีมาตรฐานและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดมากขึ้น ตราสารสิทธิ (Option) คือ สัญญาระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ซื้อและผู้ขาย (ผู้ออก) โดยผู้ขายให้สิทธิกับผู้ซื้อที่จะทำการซื้อ /ขาย สินค้าตามจำนวนและราคาที่ระบุไว้ โดยผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินค่า Option เรียกว่า ค่าพรีเมี่ยม (Premium) ให้กับผู้ขายเป็นการตอบแทนเพื่อแลกกับการได้สิทธิตามสัญญานั้น ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทในประเทศไทยส่งสินค้าไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกามูลค่า  1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ขายให้เครดิต 90 วัน เมื่อครบ 90 วัน หากอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นกว่า 35 บาทต่อเหรียญตามที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้ส่งออกก็จะได้ประโยชน์ เนื่องจากเงินชำระค่าสินค้า  1 ล้านเหรียญจะมีมูลค่าเป็นเงินบาทสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่า 35 บาทต่อเหรียญผู้ส่งออกจะเสียประโยชน์ หากผู้ส่งออกไม่ต้องการรับความเสี่ยงนี้ ก็สามารถทำได้โดยซื้อสิทธิที่จะขายเงิน  1 ล้านเหรียญ (Put option) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และเมื่อได้รับชำระค่าสินค้าก็ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวตามสัญญาในอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่า 35 บาทต่อเหรียญ ก็อาจตัดสินใจไม่ใช้สิทธิใน Put Option นั้นก็ได้
       4.สัญญาแลกเปลี่ยน (Swap) คือ สัญญาระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย ในการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดระหว่างกันเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ โดยก่อให้เกิดภาระผูกพันที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามในการส่งมอบกระแสเงินสดระหว่างกัน ตามงวดที่กำหนดตลอดอายุของสัญญา สัญญาแลกเปลี่ยนนี้อาจเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินก็ได้ สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นตราสารอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นหลังสุด (ประมาณทศวรรษที่ 1970) เมื่อเทียบกับตราสารสิทธิและสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีมานานแล้ว สัญญาแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นเนื่องจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนมีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทางการเงินที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ สัญญาแลกเปลี่ยนถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยจัดการความเสี่ยง ให้กระแสเงินสดจ่ายมีความเหมาะสมกับกระแสเงินสดรับ และสามารถลดความเสี่ยงลงได้ สัญญาแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
      1.สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest swap)
      2.สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน (Cross currency swap)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น